วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แผนที่น้ำท่วมจาก MIKE11 โดยใช้เพียงข้อมูลหน้าตัดลำน้ำ

ในส่วนนี้เป็นการนำเสนอการกำหนดให้แบบจำลอง MIKE11 สร้างแผนที่น้ำท่วม
โดยเป็นแผนที่น้ำท่วมแบบที่ใช้เพียงข้อมูลหน้าตัดลำน้ำเท่านั้น
ในการสร้างแผนที่น้ำท่วมรูปแบบนี้ จะเป็นการกำหนดให้แบบจำลอง ใช้ข้อมูลค่าระดับน้ำที่ได้จากการคำนวนร่วมกับระดับท้องน้ำจากหน้าตัดลำน้ำมาทำการสร้างแผนที่น้ำท่วม
ข้อดีของแผนที่น้ำท่วมรูปแบบนี้คือ ไม่ต้องใช้ข้อมูลเพิ่มเติมใดๆนอกจากข้อมูลที่ใช้ใน MIKE11 อยู่แล้ว
และเนื่องจากโดยปกติแล้วข้อมูลหน้าตัดลำน้ำ เป็นข้อมูลที่มีการสำรวจอย่างละเอียด และได้ค่าที่ถูกต้องที่สุดสำหรับระดับท้องน้ำ ดังนั้นแผนที่น้ำท่วมที่ใช้ข้อมูลหน้าตัดลำน้ำจึงจัดว่าเป็นการใช้ข้อมูลค่าระดับท้องน้ำที่มีความแม่นยำสูงในการสร้างแผนที่น้ำท่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียหลักๆคือ แผนที่น้ำท่วมที่ได้จะครอบคลุมได้แค่เท่าที่ความกว้างของหน้าตัดลำน้ำที่ใช้ในแบบจำลอง MIKE11 เท่านั้น จากรูปด้านล่างนี้จะเห็นว่าแผนที่ที่ได้จะจำกัดโดยความกว้างของหน้าตัดลำน้ำ


และข้อจำกัดอื่นๆ ก็เป็นข้อจำกัดที่เกิดจากการใช้แบบจำลองแบบ 1D ในการวิเคราะห์การไหล ซึ่งในกรณีแผนที่น้ำท่วมนั้น มักจะเป็นการไหลแบบ 2D มากกว่า

สำหรับวิธีการตั้งค่าให้แบบจำลอง MIKE11 สร้างแผนที่น้ำท่วมขึ้นมานั้นทำได้โดยการตั้งค่าในไฟล์ *.HD11 โดยในไฟล์นี้จะมีแถบข้อมูลที่ชื่อ map ซึ่งเราสามารถตั้งค่าการจัดเก็บแผนที่น้ำท่วมได้ดังแสดงในรูปประกอบด้านล่างนี้


รูปประกอบของตัวอย่างนี้ เป็นการตั้งค่าให้จัดเก็บแผนที่น้ำท่วมโดยมีจุดมุมล่างซ้ายอยู่ที่ (-2000,-2000) มีขนาดกริด 10 เมตร จำนวนกริดในแนวซ้ายขวา 1300 กริด และในแนวบนล่าง 1100 กริด และเป็นการจัดเก็บเฉพาะค่าระดับน้ำเท่านั้น ไฟล์ network ของตัวอย่างนี้แสดงดังรูปด้านล่างนี้


หลังจากที่สั่งคำนวณเสร็จแล้วจะได้ไฟล์นามสกุล *.dfs2 ที่เป็นไฟล์ผลคำนวณแผนที่น้ำท่วม
ซึ่งสามารถเปิดได้ด้วย MIKEZero, MIKEView และ ArcGIS (ดังที่ได้นำเสนอไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้)
ในตัวอย่างนี้เป็นภาพเคลื่อนไหวแสดงผลคำนวณแผนที่น้ำท่วมของตัวอย่างนี้


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งในการสร้างแผนที่น้ำท่วมจากโปรแกรม MIKE11 ซึ่งมีข้อจำกัดต่างๆพอสมควร การเลือกใช้รูปแบบนี้จึงต้องทำความเข้าใจข้อจำกัดให้ดี และหากข้อจำกัดที่มีไม่ทำให้ผลคำนวนผิดพลาดไปจากที่ต้องการมากนัก วิธีการนี้ก็เป็นวิธีการที่ง่าย และสะดวกที่สุดในการสร้างแผนที่น้ำท่วม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น